
กาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
กาตาร์ ที่ไม่เคยไปเตะฟุตบอโลกรอบสุดท้ายมาก่อน ฟุตบอลเอเชีย(AFC) ก็ไม่เคยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ(ก่อนปี 2019) แน่นอนว่าหากพูดถึงทีมชั้นนำของเอเชียในฝั่งตะวันตก แฟนบอลส่วนมากก็จะมองไปที่อิรัก อิหร่าน หรืออุซเบฯมากกว่า
เพื่อการพัฒนา ชีกห์ ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ทาห์นี เริ่มโครงการพัฒนาด้านกีฬาในระยะยาว ก่อตั้ง แอสไพน์ อะคาเดมี่ (Aspire Academy) ขึ้นมาในปี 2004 เพื่อผลิตนักกีฬาขึ้นมาในระดับชาติ ทั้งการดึงนักกีฬาจากชาติอื่นเข้ามาอุ้มชู อบรม ผลักดัน และให้ที่อยู่/การกินอยู่ที่ดี/ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ภายใต้งบประมาณถึง 1,400 ล้านดอลลาร์
ผลผลิตจากแอสไพน์ เจริญงอกงามได้อย่างดี ผสมผสานกับกลุ่มนักเตะชุดเดิม กาตาร์เริ่มก้าวขึ้นมา ไม่เร็วไม่ช้าจนเกินไป คว้าแชมป์เอเชียนส์คัพรุ่น ยู-19 ในปี 2014 ก่อนจะก้าวไปถึงแชมป์เอเชียชุดใหญ่ ในปี 2019 ด้วยสถิติสุดแกร่ง ยิง 19 ประตู เสียลูกเดียว(ในนัดชิงฯ) ชนะครบทุกนัด ล้มขั้วอำนาจเก่าอย่าง ซาอุดีอาราเบีย, อิรัก, เกาหลีใต้ รวมถึงญี่ปุ่น ในนัดชิงชนะเลิศ
นักเตะกว่า 70% (16 คน) จากทีมชุดแชมป์เอเชีย คือผลผลิตจากแอสไพน์ โดยเฉพาะดาวซัลโวของรายการ อย่าง อัลโมเอซ อาลี และที่สำคัญคือกุนซือชาวสเปน เฟลิกซ์ ซานเชซ ดิกรีระดับอดีตโค้ชเยาวชนบาร์เซโลน่า ที่แอสไพน์ดึงมาปลุกปั้นทีมชาติกาตาร์ตั้งแต่ชุดเยาวชน(ได้คุมชุดใหญ่ในปี 2017)
กาตาร์พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ดันมาตรฐานของลีกในประเทศมากขึ้น การมีโค้ชเปี่ยมประสบการณ์อย่าง ชาบี, จิอันฟังโกล โซลา, ไมเคิล เลาด์รูป หรือเฮอร์นัน เครสโปร คุมทีมในประเทศ สร้างประสบการณืให้กับนักเตะในประเทศ จนถึงในปัจจุบันนี้ 26 ผู้เล่นชุดลุยฟุตบอลโลก เป็นผู้เล่นในกาตาร์ สตาร์ลีก ทั้งหมด (มีบางคนที่เคยค้าแข้งในลีกยุโรป แต่ก็กลับมาเล่นในกาตาร์)
หลังอยู่บนจุดสูงสุดของทวีป กาตาร์ยังได้รับเชิญไปร่วมเตะโคปา อเมริกา ได้ฟาดแข้งกับปารากวัย โคลอมเบีย และอาเจนติน่า แม้จะตกรอบแบ่งกลุ่มด้วยสถิติเสมอ 1 แพ้ 2 แต่ก็ถือว่าสู้กับทีมอเมริกาใต้ได้อย่างสนุก ต่อมาในปี 2021 กาตาร์ก็ได้ถูกเชิญไปเตะ คอนคาเคฟ โกลด์ คัพ ซึ่งก็ฝ่าฟันเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศเลยทีเดียว ก่อนจะแพ้สหรัฐอเมริกาไป 0-1
แม้จะไม่ต้องเตะรอบคัดเลือก(จากการเป็นเจ้าภาพ) แต่กาตาร์ก็ยังได้เตะอุ่นเครื่องกับทีมที่ว่าง ในรอบคัดเลือกโซนยุโรปกลุ่มเอ(ที่มี 5 ทีม ต้องมีทีมหนึ่งว่างในโปรแกรมแต่ละนัด) ผลงานก้ถือว่าไม่ได้แย่นัก(แพ้ 5 เสมอ 2 ชนะ 3) โดยล้มลักเซ็มเบิร์ก อาเซอร์ไบจาน และเสมอกับไอร์แลนด์ได้หนึ่งนัด (แพ้โปรตุเกสกับเซอร์เบีย ทั้ง 4 นัด)
ต่อมาช่วงปลายปี ก็ไปเตะรายการอาหรับ คัพ คว้าตำแหน่งอันดับ 3 มาได้ จากการดวลจุดโทษชนะอียิปต์ ซึ่งเป็นผลงานที่ค่อนข้างดี (รายการอาหรับคัพ มีทีมแข็งๆจากแอฟริกามาร่วมด้วย ซึ่งกาตาร์ตกรอบจากการแพ้แอลจีเรีย) จากนั้นแม้พวกเขาจะไม่มีโปรแกรมรายการคัดเลือก แต่กาตาร์ก็ขยันเตะอุ่นเครื่องกับชาติต่างๆตลอด โดยในปี 2022 นี้ก็เตะไปแล้ว 10 นัด(ไม่นับเกมเจอทีมชาติอื่นชุดเล็ก) ชนะ 6 นัด เสมอ 3 นัด และแพ้แค่เกมเดียว คือการพ่ายต่อแคนาดา แถมสถิติ 6 นัดหลังสุดไม่แพ้ใครอีกด้วย (เสมอชิลี 2-2 ต่อด้วยชนะ นิคารากัว กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา และอัลเบเนีย)
ทีมมหาอำนาจทีมใหม่แห่งเอเชีย กับการใช้เวลาบ่มเพาะสร้างระบบมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เรียงหน้าด้วยแข้งประสบการณ์สูงอย่าง ฮัซซาน อัล-เฮย์โดส, คาริม บูดิยัฟ, อับเดลคาริม ฮัสซาน ผสานกับแข้งผลิตจากแอสไพน์ในวัย 20 ต้นๆ-กลางๆ ภายใต้การคุมทีมของกุนซือชาวสเปนิช พร้อมแผนการเล่นสุดรัดกุมอย่าง 3-5-2 (หรือ 3-4-1-2 ตามโอกาส) กาตาร์กำลังสร้างทีมสุดแข็งแกร่ง ที่หวังจะใช้งานต่อไปได้อีกหลายรายการ
ผลงานของทีมชาติกาตาร์ จะมีความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่าการจัดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ เกิดภาพพจน์ในทางลบอยู่เยอะมาก ทั้งปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน, การยอมรับความหลากหลายทางเพศ, การจำกัดอะไรหลายๆอย่างตามกฎทางศาสนา, การที่ต้องจัดฟุตบอลโลกระหว่างฤดูกาล ทำให้มีนักเตะดังๆบาดเจ็บจำนวนมาก และไหนจะข่าวลือต่างๆเรื่องการล็อกผลคู่เปิดสนาม หรือการจ้างสื่อมาอวย
ทางเดียวที่กาตาร์จะสร้างความน่าจดจำของชาติตนเองขึ้นมาหลังจบรายการนี้ คือผลงานของทีมที่ต้องออกมาดีที่สุด อย่างน้อยไม่ควรที่จะตกรอบแรก แบบแอฟริกาใต้ และไม่ควรต้องเอาชนะด้วยการโกงจนฉาวทั่วโลก แบบเกาหลีใต้ แน่นอนว่าคงไม่มีใครคาดหวังที่จะเห็นกาตาร์ก้าวไปจนถึงรอบรองชนะเลิศ แต่การผ่านรอบแบ่งกลุ่มไปให้ได้ ก็คงเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แล้ว (คู่แข่งในกลุ่มก็ไม่ใช่หมูๆ มีทั้งเอกวาดอร์, เซเนกัล และเนเธอแลนด์)